แนวคิด ESG เป็นแนวคิดที่มีความสำคัญต่อการบริหารธุรกิจในปัจจุบัน เนื่องจากเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดเรื่องสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ช่วยให้องค์กรสามารถปรับตัวและแข่งขันในตลาดได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงการเพิ่มความเชื่อมั่นจากผู้บริโภคและนักลงทุน สร้างความยั่งยืนในระยะยาว
ในบทความนี้จะพาทุกคนไปรู้จักกับแนวคิด ESG ตั้งแต่คำนิยามไปจนถึงการนำไปปฏิบัติในองค์กร
แนวคิด ESG คืออะไร ?
ESG ย่อมาจาก Environmen (สิ่งแวดล้อม), Social (สังคม) และ Governance (ธรรมาภิบาล) เป็นแนวคิดที่ใช้การประเมินและวัดความยั่งยืนในการทำธุรกิจ ครอบคลุม 3 มิติข้างต้น ซึ่งมีหน่วยงานที่ให้การรับรองหรือให้คะแนนตามกรอบการดำเนินงานที่แตกต่างกันออกไป
ESG เป็นหลักเกณฑ์ที่ได้รับการยอมรับทั้งในระดับประเทศและในระดับสากล ช่วยป้องกันธุรกิจที่มีการฟอกเขียว (Greenwashing) ซึ่งหมายถึงบริษัทหรือผลิตภัณฑ์ไม่สามารถปฏิบัติตามที่อ้างว่าเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและสังคม แต่กลับทำให้ผู้คนเข้าใจผิดว่าบริษัทหรือผลิตภัณฑ์นั้นมีความยั่งยืน โดยไม่ได้รับการรับรองจากหน่วยงานที่น่าเชื่อถือ
นอกจากนี้ แนวคิดดังกล่าวยังช่วยให้นักลงทุนสามารถเปรียบเทียบการดำเนินงานด้าน ESG กับบริษัทอื่น ๆ ในกลุ่มธุรกิจเดียวกัน เพื่อพิจารณาแนวโน้มการเติบโตว่ามีความยั่งยืนในระยะยาวหรือไม่อีกด้วย
ความรับผิดชอบ 3 ด้านตามแนวคิด ESG
การบริหารองค์กรตามแนวคิด ESG คือการให้ความสำคัญกับความรับผิดชอบใน 3 ด้านหลัก ดังต่อไปนี้
- ความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม (Environment) การดำเนินธุรกิจโดยลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม โดยมีมาตรการที่ชัดเจนในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึงการจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพ
- ความรับผิดชอบต่อสังคม (Social) เป็นการดำเนินธุรกิจที่องค์กรให้ความสำคัญและคำนึงถึง 2 ภาคส่วนที่มีความเกี่ยวข้องกัน คือ บริษัท และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทั้งภายในและภายนอกขององค์กร เช่น พนักงาน คู่ค้า ชุมชน ลูกค้า ซัพพลายเออร์ นอกจากนี้ยังเป็นการดำเนินธุรกิจที่ให้ความเคารพต่อสิทธิมนุษยชนและการเฝ้าระวังการตรวจสอบสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน
- หลักธรรมาภิบาล (Governance) มีความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ทุกกระบวนการ เพื่อสร้างความเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย เช่น การป้องกันการคอร์รัปชัน การโกง การซื้อขายตำแหน่ง การรับสินบน ที่สามารถเกิดขึ้นในองค์กร
เหตุผลที่ ESG มีความสำคัญเพิ่มขึ้นในปัจจุบัน
ในปี 2016 UN ได้กำหนด Sustainable Development Goals ที่ผ่านการรับรองจาก 193 ประเทศสมาชิก โดยมุ่งเน้นให้เกิดความสมดุลของ 3 เสาหลักคือ สังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ทำให้ทุกประเทศรวมถึงองค์กรต่าง ๆ เดินเครื่องเต็มกำลังเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายเดียวกัน
ความมุ่งมั่นในการสร้างความยั่งยืนดังกล่าว จึงทำให้แนวคิด ESG ได้รับการตอบรับจากองค์กรและบริษัทต่าง ๆ ทั่วโลก ด้วยเล็งเห็นว่า การทำธุรกิจโดยมุ่งไปที่ผลกำไรเพียงอย่างเดียว อาจจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมตามมา ซึ่งเหตุผลที่ทำให้ ESG มีความสำคัญเพิ่มมากขึ้น สามารถแบ่งเป็นประเด็นได้ดังต่อไปนี้
- สร้างความยั่งยืนในระยะยาว โดยส่วนใหญ่แล้ว องค์กรที่ให้ความสำคัญกับ ESG มักจะเป็นองค์กรที่พร้อมปรับตัวกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น จึงสามารถรับมือกับความท้าทายและวิกฤตการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้ดี
- ได้เปรียบคู่แข่งทางธุรกิจ ปัจจุบันผู้บริโภค หรือแม้แต่พาร์ตเนอร์ทางธุรกิจ ให้ความสำคัญกับสังคมและสิ่งแวดล้อม มีงานวิจัยพบว่า ผู้บริโภคยอมจ่ายเงินซื้อสินค้ารักษ์โลกในราคาที่แพงกว่า หากสินค้านั้นช่วยลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมได้จริง
- ดึงดูดนักลงทุนได้มากกว่า อย่างของไทยมีการเปิดให้ลงทุนในกองทุนรวม Thai ESG และผู้ลงทุนจะได้รับสิทธิลดหย่อนภาษีเงินได้ ด้วยเหตุนี้ บริษัทที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนจึงดึงดูดนักลงทุนทั้งรายใหญ่และรายย่อยเข้ามาระดมทุนได้มากกว่าบริษัทที่ละเลยในเรื่องนี้
- ลดต้นทุน เพิ่มผลกำไรได้มากกว่า การประหยัดพลังงาน การใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า และการกำจัดขยะอย่างถูกวิธี ไม่เพียงแค่ช่วยโลกเท่านั้น แต่ยังช่วยลดค่าใช้จ่ายในบริษัท จึงเป็นการเพิ่มผลกำไรในระยะยาว
- สร้างความเชื่อมั่นและกลุ่มลูกค้า Loyalty ได้ โดยจะได้รับความไว้วางใจจากลูกค้ามากกว่า ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างความภักดี หรือ Brand Loyalty อย่างมีประสิทธิภาพ
การจัดทำบัญชีก๊าซเรือนกระจกขององค์กร (GHG Accounting and Inventory)
มิติทางสิ่งแวดล้อม เป็นหนึ่งในกรอบการดำเนินงานที่สำคัญตามแนวคิด ESG ซึ่งปัจจุบันมีวิธีการวัดผลได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นการแสดงเจตนารมณ์ลดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกอย่างจริงจัง ก็คือ การจัดทำบัญชีก๊าซเรือนกระจก หรือ GHG Accounting ที่ช่วยให้องค์กรเข้าใจและสามารถบริหารจัดการผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยมีการกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน และดำเนินการและรายงานผลอย่างเป็นระบบ
การจัดทำบัญชีก๊าซเรือนกระจกสำคัญอย่างไร ?
1. สร้างความเข้าใจเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
ช่วยให้องค์กรมีภาพที่ชัดเจนเกี่ยวกับ Carbon Footprint พร้อมระบุจุดที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุด เพื่อกำหนดแนวทางดำเนินการปรับปรุง พร้อมกันนี้ยังกำหนดปีฐาน (Baseline Setting) ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อให้องค์กรสามารถติดตามความก้าวหน้าการลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
2. ช่วยตั้งเป้าหมายและติดตามความคืบหน้าเป็นระยะ
ช่วยให้องค์กรดำเนินการตั้งเป้าหมายที่ทำได้จริงและวัดผลได้ พร้อมติดตามการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างสม่ำเสมอ เพื่อติดตามความก้าวหน้าและปรับปรุงการดำเนินงานในจุดต่าง ๆ เพิ่มเติม
3. บริหารจัดการความเสี่ยง
ช่วยให้องค์กรสามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate Change Resilience) ที่มีความรุนแรง และส่งผลกระทบต่อ Supply Chain และยังช่วยให้บริษัทปฏิบัติตามกฎระเบียบ (Regulatory Compliance) ที่เกี่ยวข้องกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งในประเทศและต่างประเทศ
4. เพิ่มความได้เปรียบทางการแข่งขัน
ปัจจุบันผู้บริโภคและนักลงทุนมักสนใจบริษัทหรือองค์กรที่มีความมุ่งมั่นในการดูแลสิ่งแวดล้อม ซึ่งการจัดทำก๊าซบัญชีเรือนกระจกก็เป็นหนึ่งในเครื่องมือที่พิสูจน์ให้เห็นถึงความตั้งใจจริงอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมกันนี้ ยังกระตุ้นให้องค์กรสร้างสรรค์นวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ที่ช่วยลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น
5. ช่วยลดกำแพงกีดกันทางการค้าด้วยภาษีคาร์บอน
เป็นหนึ่งในมาตรการเชิงรุก (Proactive Measures) ในการลดภาระภาษีที่จะจัดเก็บในอนาคต พร้อมกุมความได้เปรียบในการสร้างภาพลักษณ์ของการเป็นผู้นำด้านความยั่งยืน
ผลประโยชน์ทางภาษี ในการทำ ESG
สิทธิประโยชน์ทางด้านภาษี เป็นอีกหนึ่งแรงจูงใจที่ทำให้หลายบริษัทหันมาใช้แนวคิด ESG ในการบริหารมากยิ่งขึ้น โดยหลาย ๆ ประเทศรวมถึงประเทศไทยกำลังเตรียมใช้มาตรการภาษีคาร์บอน เพื่อลดผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก
มาตรการภาษีคาร์บอนคืออะไร ?
มาตรการภาษีคาร์บอนคือ ภาษีที่ภาครัฐจัดเก็บบริษัทหรือองค์กรที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณที่สูงกว่ามาตรฐานกำหนด ทั้งจากทางตรงและทางอ้อม ตลอดจนกิจกรรมต่าง ๆ ในการดำเนินธุรกิจ เช่น การผลิตกระแสไฟฟ้า การบำบัดน้ำเสีย การขนส่งสินค้า หรือผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากการตัดต้นไม้ หรือใช้ทรัพยากรธรรมชาติต่าง ๆ
รูปแบบของการเก็บภาษีคาร์บอน
- ภาษีคาร์บอนทางตรง คือ การเก็บภาษีจากปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการผลิตสินค้าโดยตรง เช่น การผลิตไฟฟ้า การเผาขยะ
- ภาษีคาร์บอนทางอ้อม คือ การเก็บภาษีจากปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการบริโภค แต่ไม่ได้เป็นผู้ผลิตเอง รวมถึงการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก เช่น กระดาษ หมึกพิมพ์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
การจัดเก็บภาษีคาร์บอนในประเทศไทย
ปัจจุบันประเทศไทยได้นำแนวคิดการจัดเก็บภาษีคาร์บอนมาใช้ในการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตรถยนต์ ตามกฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ 23) พ.ศ. 2565 โดยอ้างอิงปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกปล่อยออกมาจากการเผาไหม้ นอกจากนี้ยังมีการพิจารณานำภาษีคาร์บอนมาบังคับใช้อย่างเต็มระบบ เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายใน พ.ศ. 2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ภายใน พ.ศ. 2608 ในลักษณะแบบค่อยเป็นค่อยไป เพื่อสร้างแรงจูงใจให้แก่ผู้ประกอบการ
การจัดเก็บภาษีคาร์บอนข้ามพรมแดน
ภาษีคาร์บอนข้ามพรมแดน หรือ Carbon Border Tax คือ ภาษีที่เรียกเก็บจากประเทศที่ยังไม่มีการบังคับใช้กฎหมายภาษีคาร์บอน ซึ่งปัจจุบันได้มีการบังคับใช้ที่สหภาพยุโรป โดยจะเริ่มเก็บในปี พ.ศ. 2569 เป็นต้นไป ซึ่ง 9 อุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการนี้คือ อุตสาหกรรมซีเมนต์ พลังงานไฟฟ้า ปุ๋ย ไฮโดรเจน เหล็กและเหล็กกล้า และอะลูมิเนียม
ด้วยเหตุนี้ การดำเนินการจัดทำบัญชีคาร์บอน ยิ่งเร็วมากเท่าไร ก็ยิ่งช่วยลดกำแพงภาษีและข้อจำกัดต่าง ๆ ได้มากขึ้นเท่านั้น
กลยุทธ์การสร้างความยั่งยืน (Sustainability Strategy)
สำหรับองค์กรที่ต้องการนำแนวคิด ESG มาใช้ในการบริหาร จะต้องมีการปรับเปลี่ยนองค์กรทั้งระบบ และให้ความสำคัญ โดยมีแนวทางดังต่อไปนี้
1. สร้างทีมปฏิบัติการด้าน ESG ขึ้นมาโดยเฉพาะ
การตั้งคณะทำงาน จะช่วยให้ผู้บริหารและพนักงานตระหนักว่าบริษัทมีความจริงจังและต้องการที่จะเปลี่ยนแปลง โดยทีมควรประกอบด้วยบุคลากรจากหลากหลายแผนกในองค์กร เพื่อจะได้นำกลยุทธ์ไปปฏิบัติได้จริง
2. สร้าง Benchmark และเกณฑ์การตรวจสอบ
ทำการประเมินสถานะของบริษัทว่าได้เดินตามแนวทาง ESG มากน้อยเพียงใด เพื่อดูว่าบริษัทของเราเมื่อเทียบกับบริษัทอื่น ๆ เป็นอย่างไร และกำหนดเกณฑ์การตรวจสอบ จากนั้นเรียงลำดับความสำคัญในการทำงานจากมากไปหาน้อย
3. ตั้งเป้าหมายที่เป็นไปได้
เป้าหมายที่ไม่ท้าทาย อาจจะทำให้พนักงานไม่รู้สึกถึงการเปลี่ยนแปลง แต่เป้าหมายที่ยากเกินไปก็อาจจะทำให้ท้อและหมดกำลังใจได้ จึงควรระบุเป้าหมายที่เป็นไปได้ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
4. นำแนวคิด ESG ไปผนวกกับวัฒนธรรมองค์กร
ช่วยให้พนักงานตระหนักถึงความเอาจริงเอาจัง และกระตุ้นให้พนักงานทั้งองค์กรมีส่วนร่วม และนำแนวคิด ESG เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรอย่างแท้จริง
5. ติดตามและตรวจสอบผลการดำเนินงานในส่วนต่าง ๆ
การติดตามและประเมินผลอย่างมีประสิทธิภาพ จะทำให้ทุกคนเห็นว่าบริษัทเอาจริงเอาจังกับเรื่องดังกล่าว และยังใช้ข้อมูลมาวิเคราะห์และประเมินผลได้
6. จัดทำรายงาน และประเมินกลยุทธ์เป็นประจำ
จัดทำรายงานประเมินผลและความคืบหน้าเพื่อให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียรับทราบ และมีการปรับปรุงกลยุทธ์ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
เครื่องมือการทำ Sustainability Report ด้วย ESG Data
การดำเนินการตามนโยบาย ESG ให้มีประสิทธิภาพ และได้ผลลัพธ์เป็นที่น่าพึงพอใจ นอกจากความตั้งใจจริงของผู้บริหารและองค์กรแล้ว การใช้เครื่องมือที่มีประสิทธิภาพก็มีส่วนช่วยให้การทำงานฉับไว และได้รับความยอมรับมากขึ้น
สำหรับผู้ที่ต้องการเครื่องมือที่ช่วยในการทำ Sustainability Report สำหรับองค์กร (หรือที่มักเข้าใจผิดเรียกกันว่า ESG Report) ขอแนะนำเครื่องมือ Impact Tracker แพลตฟอร์ม ESG Data จาก PALO IT ช่วยจัดเก็บและแสดงผลข้อมูล Carbon Footprint ในรูปแบบของแดชบอร์ด ใช้งานง่าย สอดคล้องกับมาตรฐานสากล สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เบอร์ 02-180-6121 และอีเมล thailand@palo-it.com
ข้อมูลอ้างอิง
- ESG คืออะไร ความหมายตัวย่อ วิธีใช้ในองค์กร สร้างธุรกิจสู่ความยั่งยืน. สืบค้นเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2567 จาก https://www.vovgroup.com/blogs-what-is-esg
- ESG คืออะไร ทำไม ESG ถึงมีความสำคัญในปัจจุบัน. สืบค้นเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2567 จาก https://www.cloverpower.co.th/th/updates/blog/224/esg-คืออะไร-ทำไม-esg-ถึงมีความสำคัญในปัจจุบัน
- ESG…ปัจจัยสำคัญสู่แนวทางการประกอบธุรกิจตามหลักความยั่งยืน. สืบค้นเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2567 จาก https://www.asco.or.th/uploads/upfiles/files/ASCO article_ESG_ed.pdf
- แนวคิด ESG คืออะไร ทำไมถึงได้รับความนิยมในกลุ่มนักลงทุนในปัจจุบัน. สืบค้นเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2567 จาก https://www.tris.co.th/esg/
- Why is ESG (Environmental, Social and Governance) important for a business. สืบค้นเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2567 จาก https://www.kasikornresearch.com/th/analysis/k-social-media/Pages/SBU312-FB-2024-06-18.aspx
- What Is ESG Investing?. สืบค้นเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2567 จาก https://www.investopedia.com/terms/e/environmental-social-and-governance-esg-criteria.asp
- Why is ESG (Environmental, Social and Governance) important for a business. สืบค้นเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2567 จาก https://www.apiday.com/blog-posts/why-is-esg-environmental-social-and-governance-important-for-a-business
- The 17 Goals. สืบค้นเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2567 จาก https://sdgs.un.org/goals