เรียกได้ว่าการแข่งขันของธุรกิจในยุคดิจิทัลดุเดือดยิ่งกว่าการแข่งรถ Formula 1 เสียอีก และในสถานการณ์เช่นนี้ ความเร็ว ความยืดหยุ่น และการปรับตัวได้ก่อนอาจไม่ใช่แค่ข้อได้เปรียบ แต่เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการอยู่รอด ซึ่งกลายเป็นจุดกำเนิดของแนวคิด "DevOps" วิธีการทำงานที่ไม่เพียงแต่ช่วยให้องค์กรสามารถ "ขับเคลื่อน" ได้เร็วขึ้น แต่ยังช่วยให้สามารถ "เปลี่ยนทิศทาง" ได้อย่างคล่องแคล่วในโลกของการพัฒนาซอฟต์แวร์ที่พร้อมเปลี่ยนแปลงได้ทุกเวลา ส่วนใครที่ยังไม่ทราบว่า DevOps คืออะไร ย่อมาจากอะไร และทำอะไรได้บ้าง ทุกคำถามสามารถหาคำตอบได้ในบทความนี้
DevOps คืออะไร ?
เพื่อความเข้าใจ DevOps ในภาพรวม ก่อนอื่นต้องรู้ก่อนว่าคำนี้ย่อมาจากคำสองคำคือ "Development" (การพัฒนา) และ "Operations" (การปฏิบัติการ) ดังนั้น DevOps จึงหมายถึงแนวทางการทำงานที่รวมทีมพัฒนาซอฟต์แวร์ (Developers) กับทีมปฏิบัติการระบบ (IT Operations) เข้าด้วยกัน โดยมีเป้าหมายหลักคือการสร้างวัฒนธรรม สภาพแวดล้อมการทำงานที่ทำให้เกิดการพัฒนา การทดสอบ การตรวจสอบ และการนำซอฟต์แวร์ไปใช้งานจริงอย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ รวมถึงมีน่าเชื่อถือมากขึ้น
หลักการสำคัญของ DevOps
- การทำงานร่วมกันอย่างต่อเนื่อง (Continuous Collaboration) DevOps ช่วยให้ทีม Development กับ Operations ทำงานร่วมกันตั้งแต่ขั้นตอนการวางแผน ออกแบบ พัฒนา ทดสอบ จนถึงการนำไปใช้งานจริง ทำให้เกิดการแบ่งปันความรู้ ความเข้าใจในปัญหา และการหาแนวทางแก้ไขร่วมกัน
- การพัฒนาและส่งมอบอย่างต่อเนื่อง (Continuous Integration and Delivery - CI/CD) CI/CD เป็นหัวใจสำคัญของ DevOps โดย CI คือการรวมโค้ดจากนักพัฒนาหลายคนเข้าด้วยกันอย่างสม่ำเสมอ พร้อมทั้งทำการทดสอบอัตโนมัติ ส่วน CD คือการนำโค้ดที่ผ่านการทดสอบไปติดตั้งบนระบบจริงอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
- การใช้เทคโนโลยีอัตโนมัติ (Automation) DevOps ให้ความสำคัญกับการใช้เทคโนโลยีอัตโนมัติในทุกขั้นตอนของการพัฒนาและปฏิบัติการ ตั้งแต่การทดสอบ การ Build การ Deploy ไปจนถึงการ Monitor ระบบ เพื่อลดข้อผิดพลาดจากมนุษย์ รวมถึงเพิ่มความเร็วในการทำงาน
- การตรวจสอบและปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง (Continuous Monitoring and Improvement) DevOps คือแนวทางที่สนับสนุนให้มีการติดตามประสิทธิภาพของระบบอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์และปรับปรุงกระบวนการทำงานอยู่เสมอ
เหตุผลที่ควรนำแนวทาง DevOps มาปรับใช้
การทำงานแบบแยกส่วนระหว่างทีม Development และ Operations (หรือที่เรียกว่า "Silos") มักก่อให้เกิดปัญหาหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น การสื่อสารที่ขาดประสิทธิภาพ ความล่าช้าในการ Deploy และแก้ไขปัญหา รวมถึงความไม่สอดคล้องระหว่างเป้าหมายของแต่ละทีม
ประโยชน์ของ DevOps ที่แก้ปัญหาเหล่านี้
- ลดระยะเวลาในการพัฒนาและส่งมอบ (Time-to-Market): DevOps คือตัวช่วยให้องค์กรสามารถพัฒนาได้เร็วขึ้น ตอบสนองความต้องการของตลาดได้ทันท่วงที
- ปรับปรุงคุณภาพของซอฟต์แวร์: ผ่านการทดสอบอัตโนมัติและการตรวจสอบคุณภาพอย่างต่อเนื่อง ทำให้สามารถค้นพบ รวมถึงแก้ไขข้อบกพร่องได้เร็วขึ้น
- เพิ่มความพึงพอใจของลูกค้า: ด้วยการตอบสนองที่รวดเร็วต่อ Feedback ส่งผลให้มีการปรับปรุงผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง ลูกค้าก็ย่อมรู้สึกพึงพอใจไปด้วย
DevOps ส่งผลต่อวัฒนธรรมภายในองค์กรอย่างไร ?
- การเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมองค์กร
DevOps ไม่ใช่แค่การใช้เครื่องมือใหม่ ๆ แต่คือการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมการทำงานทั้งหมด โดยมุ่งเน้นการทลายกำแพงระหว่างทีม Dev กับ Ops พร้อมสร้างความไว้วางใจและความรับผิดชอบร่วมกัน โดยทุกคนในทีมต้องเข้าใจและยอมรับในเป้าหมายเดียวกัน นั่นคือการส่งมอบผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพให้กับลูกค้าอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง
DevOps ให้ความสำคัญกับความโปร่งใสผ่านการใช้ตัวชี้วัด (Metrics) ที่จับต้องได้และสามารถวัดผลได้จริง เช่น Deployment Success Rate หรือ Pipeline Duration ซึ่งเป็นข้อมูลที่สร้างความโปร่งใสในกระบวนการทำงานของทีม โดยทีมสามารถใช้ข้อมูลเหล่านี้ในการประเมินความสำเร็จหรือจุดที่ต้องปรับปรุงได้อย่างชัดเจน ทำให้ไม่ต้องอาศัยการสอบถามหรือคาดเดากันเอง การแสดงผลลัพธ์ในรูปแบบของตัวเลขช่วยให้ทุกคนในทีมมีความเข้าใจตรงกัน ทั้งนี้ การใช้เครื่องมืออย่างเช่น Jenkins, Prometheus หรือ Grafana สามารถช่วยให้ทีมติดตามและตรวจสอบตัวชี้วัดเหล่านี้ได้อย่างต่อเนื่อง เพิ่มความโปร่งใสในกระบวนการพัฒนาและการปฏิบัติการ
- การเรียนรู้และการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง
อีกหนึ่งในหลักการสำคัญของวัฒนธรรม DevOps คือ Continuous Development ซึ่งมุ่งเน้นการพัฒนาโค้ดและนำไป Deploy ให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพราะเมื่อโค้ดถูกนำไปใช้ในสภาพแวดล้อมจริง ผู้ใช้งานจะสามารถให้ Feedback ได้อย่างรวดเร็ว ทำให้ทีมสามารถแก้ไขปัญหา เพิ่มฟีเจอร์ใหม่ หรือปรับปรุงกระบวนการทำงานได้อย่างทันท่วงที เรียกได้ว่าการตอบสนองรวดเร็วนี้เป็นหัวใจสำคัญของการทำงานในแบบ DevOps โดยทุกขั้นตอนถูกขับเคลื่อนด้วยระบบอัตโนมัติ เช่น Automated Testing, Continuous Integration (CI) และ Continuous Deployment (CD) ซึ่งช่วยให้การพัฒนาและการปรับปรุงเป็นไปอย่างลื่นไหลและมีประสิทธิภาพ
- การสร้างทีมแบบ Cross-Functional
DevOps สนับสนุนการสร้างทีมที่มีทักษะหลากหลาย (Cross-Functional Team) ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกผู้มีความเชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ ทั้งการพัฒนา การทดสอบ การปฏิบัติการ และระบบความปลอดภัย ทำให้ทีมสามารถจัดการกับปัญหาที่เจอได้อย่างครอบคลุมและมีประสิทธิภาพ
ดังนั้น ถ้าถามว่า DevOps ทำอะไรบ้าง คำตอบจึงไม่ได้มีแค่การใช้เครื่องมือหรือเทคโนโลยีใหม่ ๆ เท่านั้น แต่ยังเป็นการเปลี่ยนแปลงวิธีคิดและวัฒนธรรมการทำงานองค์กรอย่างลึกซึ้ง โดยมุ่งเน้นการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดระหว่างทีมต่าง ๆ เพื่อลดอุปสรรค และเพิ่มประสิทธิภาพในการส่งมอบผลิตภัณฑ์ซอฟต์แวร์
PALO IT พร้อมช่วยขับเคลื่อนธุรกิจด้วยทีม DevOps ผู้เชี่ยวชาญ
ถ้าโจทย์ของผู้ประกอบการ คือการขับเคลื่อนธุรกิจไปข้างหน้าอย่างมีประสิทธิภาพ ขอแนะนำบริการ DevOps จาก PALO IT ทีม DevOps ของเราตั้งเป้าไปที่การขจัดอุปสรรค โดยการใช้วัฒนธรรมองค์กร ระบบงานอัตโนมัติ และการออกแบบแพลตฟอร์มผ่านสภาพแวดล้อมการทำงานที่เน้นการทำงานร่วมกันอย่างเป็นทีมเพื่อให้เกิดความลงตัว กรอกข้อมูลในหน้าเว็บไซต์เพื่อติดต่อเราได้เลย หรือรับคำปรึกษาจากทีมงานผู้เชี่ยวชาญของเราได้ที่เบอร์ 02-180-6121 และอีเมล thailand@palo-it.com
ข้อมูลอ้างอิง:
- What is DevOps?. สืบค้นเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2567 จาก https://learn.microsoft.com/en-us/devops/what-is-devops